สังเกตด่วน!! คุณมีอาการ...โรคไต หรือไม่!!?
ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง ขนาดเท่ากำปั้น คนปกติมีไต 2 ข้าง วางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน โดยตั้งอยู่บริเวณด้านหลังใต้ต่อกระดูกชายโครง บริเวณบั้นเอว ไตเปรียบเสมือนเครื่องกรองชนิดพิเศษที่มีความมหัศจรรย์และมีจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตแต่ ละวันจะมีเลือดประมาณ 200 หน่วยกรองผ่านเนื้อไต ขับออกเป็นของเสียในรูปน้ำปัสสาวะ 2 หน่วย ลงสู่ท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อถ่ายปัสสาวะออกนอกร่างกายไตทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมกับทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย

ไตทำหน้าที่อะไร?
- ไตทำหน้าที่สร้างปัสสาวะเพื่อช่วยขับน้ำและของเสียจากเลือดออกนอกร่างกาย
- ไตควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ควบคุมการทำงานของออร์โมนในร่างกาย
- ไตควบคุมความดันโลหิต การสร้างเม็ดเลือดแดง และ การดูดซึมแคลเซี่ยม
ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วยการดูแลไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ
โรคไตมี 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 : ไตวายเฉียบพลัน
คือ การที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือ 1-2 วัน หากได้รับการล้างไตและรักษาอย่างทันท่วงที ไตจะสามารถกลับมาฟื้นเป็นปกติได้ แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไตวายซ้ำได้ และไตจะค่อยๆ เสื่อมลงจนกลายเป็นไตวายเรื้อรัง
ชนิดที่ 2 : ไตวายเรื้อรัง
เป็นภาวะที่ไตถูกทำลายต่อเนื่องมาแล้วหลายเดือนหรือหลายปี ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดไตวายเรื้อรังที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure)
อาการของไตวายเรื้อรังจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว แต่จะค่อย ๆ สำแดงอาการออกมาเป็นระยะ ไตวายเรื้อรังจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับของค่าประเมินการทำงานของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate - eGFR) หรือค่าที่ประมาณว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้เท่าไหร่ ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีค่าประเมินการทำงานของไตอยู่ที่มากกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาที (ml/min) โดยระยะของไตวาย มีดังนี้
ระยะที่ 1
ในช่วงแรกของอาการไตวายเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน ซึ่งในระยะแรก ค่าการทำงานของไตจะอยู่คงที่ประมาณ 90 มิลลิลิตรต่อนาที ขึ้นไป แต่อาจพบไตอักเสบ หรือพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
ระยะที่ 2
เป็นระยะที่การทำงานของไตเริ่มลดลง แต่มักจะยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจค่าการทำงานของไตเช่นเดียวกัน ซึ่งค่าการทำงานของไตจะเหลือเพียง 60-89 มิลลิลิตรต่อนาที
ระยะที่ 3
ในระยะนี้ จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ระยะย่อย คือ 3A และ 3B ตามค่าการทำงานของไต โดย 3A จะมีค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 45-59 มิลลิลิตรต่อนาที ส่วน 3B จะอยู่ที่ 30-44 มิลลิลิตรต่อนาที ซึ่งในระยะที่ 3 ก็มักจะยังไม่มีอาการใด ๆ สำแดงให้เห็น นอกจากค่าการทำงานของไตที่ทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 4
อาการต่าง ๆ มักจะสำแดงในระยะนี้ นอกจากค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือเพียง 15-29 ml/min แล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น อาจมีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา
ระยะที่ 5 (ระยะสุดท้าย)
เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย ค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือน้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที นอกจากอาการที่คล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว อาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจมีการตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคไตวาย
ไตวายสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลเสียต่อไตโดยตรงหรือส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ จนทำให้ไตเกิดการทำงานที่ผิดปกติตามไป โดยสาเหตของไตวายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังที่พบได้บ่อยมีดังนี้
1.การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป
2. ส่งผลให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลงอย่างเฉียบพลัน
3. ความดันโลหิตสูงส่งผลให้ผนังหลอfเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด
4. โรคเบาหวาน : ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อไตทำให้ไตเสื่อม ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรัง
5. อาการแพ้อย่างรุนแรง : อาการแพ้อย่างรุนแรงจนทำให้ระบบการทำงานในร่างกายล้มเหลว ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต
6. การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว เช่น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว ตับล้มเหลว ที่กระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายจนทำให้ไตได้รับเลือดไปไหลเวียนไม่เพียงพอ
7. การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อโรคเหล่านี้จะถูกพาไปยังไต และทำให้ไตถูกทำลาย
8. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ ยานาพรอกเซน (Naproxen) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป หรือซื้อใช้เองโดยไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร อาจนำมาสู่ภาวะไตเสื่อม
9. ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ : โรคทางเดินปัสสาวะ อย่างลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย นิ่วในไต หรือโรคมะเร็งที่ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อไปขัดขวางระบบทางเดินปัสสาวะจนทำให้ไตขับปัสสาวะออกมาไม่ได้ และเกิดภาวะเสื่อมของไตในที่สุด
10. ได้รับสารพิษ : เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะพยายามขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น สารพิษบางชนิดอาจทำลายไตจนทำให้ไตวายได้
นอกจากจากนี้โรคไตวายอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ อย่างโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะช็อก หรือเกิดจากอุบัติเหตุโดยตรงที่บริเวณไต ไม่เพียงเท่านั้น ความเสื่อมของไตตามอายุก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้เช่นกัน
ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอาจมีอาการที่ต่างกัน ทำให้มีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยไตวายนั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะของเสียที่ตกค้างในร่างกาย รวมไปถึงภาวะไม่สมดุลของระดับน้ำและแร่ธาตุของร่างกายจะส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติ หากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้
ภาวะไตวาย ต้องทำอย่างไร
ถ้าโรคไตเรื้อรังอาการแย่ลงจนเกิดภาวะไตวาย มีแนวทางการรักษา 2 ทางคือ การฟอกเลือดกับการปลูกถ่ายไต
การรักษานี้จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
การฟอกเลือดเป็นการนำเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือดของผู้ป่วย การฟอกเลือดมี 2 ประเภท คือ
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และ
- การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยทางเส้นเลือดดำ แล้วผ่านตัวกรองซึ่งในตัวกรองจะมีเนื้อเยื่อที่จะช่วยกรองของเสียและน้ำออกจากเลือด เมื่อเลือดผ่านตัวกรองแล้วจะกลายเป็นเลือดดี เครื่องจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. หรือมากกว่า และต้องทำการฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ก่อนการฟอกเลือดต้องมีการทำการตัดต่อเส้นเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือด ซึ่งมี 3 วิธีคือ
1. การนำเส้นเลือดดำต่อกับเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือเรียกว่าการทำ AV fistula เพื่อให้เส้นเลือดดำใหญ่ขึ้น และมีแรงดันพอที่จะทำให้เลือดไหลเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้
2. การต่อเส้นเลือดดำกับเส้นเลือดแดงของผู้ป่วยโดยการใช้เส้นเลือดเทียมหรือ AV graft
3. การใส่สายเข้าไปในเส้นเลือดดำขนาดใหญ่เพื่อใว้สำหรับต่อกับเครื่องไตเทียม วิธีการนี้เป็นการทำแบบชั่วคราว
การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)
การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร คือ การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาเพื่อกรองของเสียในร่างกายออกโดยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องผ่านทางท่อ ซึ่งท่อนี้ต้องทำการฝังเข้าไปในช่องท้อง วิธีนี้สามารถทำที่บ้านหรือที่ทำงานได้และต้องทำทุกวัน มีการเปลี่ยนน้ำยา 4-5 ครั้ง/วัน ผู้ป่วยสามารถเลือกเวลาทำเองได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือต้องเรียนรู้วิธีการทำด้วย
การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วย เพื่อให้ไตอันใหม่ทำงานแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว โดยไตใหม่นั้นจะได้มาจากผู้ที่เสียชีวิตที่บริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาดไทย หรือได้มาจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต เช่น จากญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา บุตร พี่น้อง หรือจากคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี